อำนาจหน้าที่ กองคลัง

บทบาทหน้าที่ของกองคลัง 
     กองคลัง  มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานการจ่าย  การรับ การนำส่งเงิน การเก็บรักษาเงิน และเอกสารทางการเงิน การตรวจสอบใบสำคัญ ฎีกา งานเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน  เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินอื่นๆ งานเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ ฐานะทางการเงิน การจัดสรรเงินต่างๆ การจัดทำบัญชีทุกประเภท ทะเบียนคุมเงินรายได้ และรายจ่ายต่างๆ การควบคุมการเบิกจ่าย  งานทำงบทดลอง ประจำเดือน ประจำปี งานเกี่ยวกับการพัสดุของเทศบาล และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย  โดยมีการแบ่งส่วนราชการในกองคลัง ดังนี้
    2.1 ฝ่ายบริหารงานคลัง
    มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม  ดูแลการปฏิบัติงานในหน้าที่ ของงานการเงิน งานบัญชี งานทะเบียนทรัพย์และพัสดุ  งานพัฒนาและจัดเก็บรายได้ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบภายในงาน ดังนี้
    2.1.1 งานการเงิน
    มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานการจ่าย  การรับ การนำส่งเงิน การเก็บรักษาเงิน และเอกสารทางการเงิน  การตรวจสอบใบสำคัญ  ฎีกา งานเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินอื่นๆ งานเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ ฐานะทางการเงิน การจัดสรรเงินต่างๆ การจัดทำบัญชีทุกประเภท ทะเบียนคุมเงินรายได้และรายจ่ายต่างๆ การควบคุม การเบิกจ่าย  การจัดทำรายงานทางการเงินประจำเดือน  ประจำปี และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
    2.1.2 งานบัญชี
    มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานการตรวจสอบหลักฐาน  ใบสำคัญคู่จ่าย เงินลงบัญชี ทำรายงานการบัญชี รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขอจัดตั้งงบประมาณ รายรับรายจ่ายประจำปี จัดทำบัญชีเงินสดประจำวัน  บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีแยกประเภท ตรวจสอบใบสำคัญหมวดรายจ่าย เก็บรักษาใบสำคัญ   ทำรายงานการเงินเป็นประจำเดือนประจำปี ควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณ ตรวจทานการตั้งฎีกาเบิกจ่าย  ทำบัญชีและทะเบียนคุมการใช้จ่ายเงินทั่วไป  และนอกงบประมาณ ควบคุมการทำบัญชีทุกประเภท ทำหนังสือโต้ตอบเกี่ยวกับการบัญชีทุกประเภท และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
    2.1.3 งานพัสดุและทะเบียนทรัพย์สิน
    มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัสดุของเทศบาลให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  เช่น  การจัดซื้อจัดจ้าง  การจัดทำทะเบียนทรัพย์สินทะเบียนครุภัณฑ์ บัญชีพัสดุ และเครื่องหมายเลขประจำทรัพย์สิน  การควบคุมการรับ – การจ่าย ใบเสร็จรับเงินทุกชนิด และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย
    2.2.4 งานพัฒนาและจัดเก็บรายได้
    มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำประกาศให้มายื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อชำระภาษี  งานตรวจสอบและจัดทำบัญชีผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีในปีงบประมาณจัดเก็บจากทะเบียนชำระภาษี  (ผ.ท.๕) งานรับและตรวจสอบแบบแสดงรายการทรัพย์สิน หรือแนบคำร้องของผู้เสียภาษี  ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นๆ  งานพิจารณาการประเมินและกำหนดค่าภาษี    ค่าธรรมเนียมในเบื้องต้นเพื่อนำเสนอพนักงานเจ้าหน้าที่ งานแจ้งผลการประเมินค่าภาษีแก่ผู้เสียภาษี  งานจัดเก็บและรับชำระรายได้จากประเภทต่างๆ งานลงรายการเกี่ยวกับโรงเรือนและที่ดิน  ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย  ในทะเบียนคุมผู้ชำระภาษี  (ผ.ท. ๕)  ของผู้เสียภาษีแต่ละรายเป็นประจำทุกวัน  งานเก็บรักษาและการนำส่งเงินประจำวัน  งานเก็บรักษาและเบิกจ่าย ใบเสร็จรับเงินต่างๆ แบบพิมพ์ต่างๆ งานเก็บรักษาเอกสารและหลักฐานการเสียภาษี  ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น งานพัฒนารายได้ และงานเร่งรัดรายได้ งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ :

          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษี ประเภทใหม่ ที่จะนำมาใช้ จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ ภาษีบำรุงท้องที่ ที่องค์กรปกครองจัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาลส่วนกลาง

กฎหมายที่ให้อำนาจการอนุญาต หรือที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

หลักการจัดเก็บภาษี

          บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีหน้าที่เสียภาษี

          ผู้จัดเก็บภาษีนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

          ฐานภาษีคิดจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          อัตราภาษีเป็นรูปแบบขั้นบันไดเพิ่มตามฐานภาษี

          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

          ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และ ห้องชุด

          ฐานภาษีคิดจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และ ห้องชุดตามประมวลกฎหมายที่ดินกรมธนารักษ์ โดยสิ่งปลูกสร้างในแต่ละประเภทจะมีราคาประเมินกลางที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ราคาประเมินกลางของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการปรับตามรอบบัญชีการประเมินราคาทุก 4 ปี

          อัตราภาษีได้มีการแบ่งประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจะเป็นรูปแบบขั้นบันไดเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี

          ถ้าที่ดินเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าภาระภาษีจะสูงขึ้นหรือลดลง ผู้เสียภาษีต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่รู้เหตุว่ามีการเปลี่ยนแปลง

 

ภาษีป้าย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ :

ป้ายที่ต้องเสียภาษี

1.1 ป้ายที่ต้องเสียภาษีป้าย ได้แก่ ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดง หรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ

1.2 ไม่เป็นป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย

  1. ป้ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่

          2.1 ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพ และบริเวณของโรงมหรสพนั้น เพื่อโฆษณามหรสพ

2.2 ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้า หรือสิ่งที่ห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้า

2.3 ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว

2.4 ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์

2.5 ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง (กฎกระทรวงฉบับที่ 8 พ.ศ. 2542) ซึ่งกำหนดว่าต้องเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

2.6 ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน

2.7 ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ

2.8 ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และ บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 2.9 ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

2.10 ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร ซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน

2.11 ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ

2.12 ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ

2.13 ป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 กำหนดป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้ายคือ

  • ป้ายที่แสดงหรือติดตั้งไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน
  • ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก 1) และ 2) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตาราง

เซนติเมตร

 

  1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ได้แก่

          3.1 เจ้าของป้าย

          3.2 ในกรณีที่ไม่มีผู้อื่นยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

 

  1. กฎหมายที่ให้อำนาจการอนุญาต หรือที่เกี่ยวข้อง

          พระรายบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

 

งานทะเบียนพาณิชย์

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ :

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ถ่ายโอนภารกิจงานจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์                 พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป โดยให้ เทศบาลตำบล รับจดทะเบียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานการจดทะเบียนพาณิชย์ไปใช้การทำธุรกรรมได้ เทศบาลตำบลต้นธงได้เปิดให้บริการแก่  ผู้ประกอบพาณิชยกิจ โดยสามารถมาจดทะเบียนพาณิชย์ได้  ณ  เทศบาลตำบลต้นธง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

กฎหมายที่ให้อำนาจการอนุญาต หรือที่เกี่ยวข้อง :

  1. พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
  2. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552
  3. พระราชบัญญัติแผนและลดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น